ปัจจุบันเวลาเราไปท่องเที่ยว เดินป่า ปีนเขา ล่องลำน้ำ เราเก็บความประทับใจด้วยการถ่ายภาพ ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว แล้วในอดีตหละ หลายคนคงนึกไปถึงแค่การวาดภาพ
Pol.Capt. Kittin A.
ทว่า อีกสิ่งที่ชาวจีนและต่อมาถ่ายทอดไปยังญี่ปุ่นและอีกหลายๆประเทศใช้เก็บความประทับใจและรูปทรงของธรรมชาติที่พบเจอนั้นก็คือการทำสวนจำลองจนค่อยๆลดทอนมาเป็นไม้ดัดกระถางในที่สุด และความมหัศจรรย์ของงานศิลป์ประเภทนี้คือมันยังห่ยใจเติบโตอยู่ ในบางชิ้นงานที่จัดแสดงกันนั้นมีอายุมากกว่า 500ปีเสียด้วยซ้ำ
ศิลปะการจัดสวนเพื่อตกแต่งพระราชวังในประเทศจีนได้มีมาตั้งแต่เมื่อราวสองพันปีก่อนคริสต์ศักราช
ดังบันทึกในสมัยราชวงศ์ฮั่นของจีนในช่วงราว 206 ก่อนคริสต์ศักราช ถึงราว ค.ศ. 220 มีบันทึกของศตวรรษที่สามและสี่ระบุว่าประเทศจีนเริ่มมีการปลูกต้นไม้ในกระถางเรียกว่า Pun-sai ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไม้ดอก เช่น เบญจมาศ ฯ ต่อมามีบันทึกกล่าวถึงการจัดสวนที่ประกอบด้วยหินและต้นไม้ในภาชนะที่เรียกว่า เผินจิ่ง (penjing) ตั้งแต่ช่วงราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618–906) ต่อมาเผินจิ่งได้แพร่หลายออกไปยังประเทศญี่ปุ่นซึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นนี่เองที่ไม้แคระได้ถูกเรียกขานกันในภาษาญี่ปุ่นว่า “บอนไซ”
ในประเทศจีนเองศาสตร์ของเผินจิ่งได้หยุดชะงักไปในช่วงยุคการปฏิวัติวัฒนธรรมของประเทศจีน เผินจิ่งกลายเป็นศาสตร์ที่ไร้สาระเป็นเรื่องของทุนนิยม ผลงานเก่าๆจำนวนมากได้สูญหายไปและผู้ที่มีความรู้ในศาสตร์ของเผินจิ่งจำเป็นต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการอยู่รอดและเพื่อถ่ายทอดความรู้ศาสตร์ด้านนี้ไปยังอนุชนรุ่นหลัง ศาสตร์ของเผินจิ่งเพิ่งจะมีการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในช่วงยี่สิบกว่าปีมานี้เองที่ทางการจีนยินยอมให้มีการฟื้นฟูศาสตร์ของเผินจิ่งขึ้นมาใหม่

บอนไซของจีน
บอนไซของจีนหรือที่จีนเรียกว่าเผินจิ่งเป็นศิลปะการสร้างสวนในภาชนะเล็กๆ คำประกอบด้วยสองส่วน “เผิน” หมายถึงกระถางหรือภาชนะ และจิ่ง หมายถึง ภาพวิวทิวทัศน์ ผู้สร้างอาจใช้ต้นไม้และหินธรรมชาตินำมาสร้างเพื่อจำลองหรือสื่อถึงภูเขา, ลำธารหรือเกาะแก่ง ผู้สร้างอาจออกแบบอย่างเรียบง่ายโดยการใช้ต้นไม้เพียงต้นเดียวเป็นองค์ประกอบรวมทั้งหมด

เผินจิ่งมีรูปแบบของตัวเองซึ่งจะแตกต่างจากบอนไซของประเทศอื่นๆ ซึ่งเหตุผลก็คือรูปแบบของเผินจิ่งจีนแทบจะไม่เปลี่ยนเลยในช่วงเจ็ดสิบแปดสิบปีมานี้ เผินจิ่งจีนและบอนไซญี่ปุ่นจะเหมือนกันมากเมื่อสมัยก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไปบอนไซญี่ปุ่นได้มี่การพัฒนาไปอย่างมากขณะที่เผินจิ่งจีนยังคงรูปแบบเดิม ดังจะเห็นได้จากภาพถ่ายบอนไซญี่ปุ่นที่จัดแสดงครั้งแรกที่กรุงลอนดอนในปี ค.ศ.1902 หากเปรียบเทียบกับบอนไซในยุคปัจจุบันแล้วจะเห็นข้อแตกต่างอย่างมาก วัฒนธรรมแบบปิดมานานหลายสิบปีและการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนในช่วง ค.ศ.1949 ถึง 1970 แทบจะทำให้ศิลปะการสร้างเผินจิ่งสาบสูญไปจากจีน โชคดีที่ยังคงมีบางคนยังคงรักษาศิลปะของเผินจิ่งนี้ไว้ให้รอดพ้นจากช่วงวิกฤตมาได้ตราบจนทุกวันนี้
มีโรงเรียนสอนศิลปะเผินจิ่งจำนวนมากในประเทศจีน ทุกโรงเรียนจะมีรูปแบบของตนเอง เผินจิ่งทางเหนือจะแตกต่างจากเผินจิ่งของทางภาคใต้ เผินจิ่งทางภาคตะวันตกจะแตกต่างจากเผินจิ่งจากภาคตะวันออก ความแตกต่างจะแตกต่างทั้งรูปแบบของกระถาง, สีและรูปทรง ผู้ปลูกเผินจิ่งทางภาคใต้ของจีนมักนิยมปลูกชาฮกเกี้ยน เอม และ Bird plum cherry (Sageretia), ขณะที่ผู้ปลูกทางภาคเหนือเน้นต้น Podocarpus, และต้นสน
โดยทั่วไปเมื่อเปรียบเทียบระหว่างเผินจิ่งจีนและบอนไซญี่ปุ่นแล้ว เผินจิ่งจะมีรายละเอียดน้อยกว่า แต่เผินจิ่งจะมีรูปแบบอิสระมากกว่าและไม่เน้นเรื่องรายละเอียด นิยมสร้างรากผิวดินและรูปร่างลำต้นและกิ่งที่บิดงอ ประกอบกับหินที่สวยงามซึ่งเป็นที่นิยมในประเทศจีน อีกสิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจของเผินจิ่งก็คือรูปแบบ รูปแบบที่เป็นอิสระขององค์ประกอบทำให้เผินจิ่งดูแปลกตาซึ่งสิ่งนี้เป็นหัวใจของศิลปะของการสร้างเผินจิ่ง ภาพเขียนของจีนเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนโน้มน้าวในการสร้างเผินจิ่งโดยเฉพาะในรูปแบบของไม้ตกกระถางและไม้เอนชาย

ผู้ปลูกเลี้ยงเผินจิ่งชาวจีนจะมีความชำนาญเรื่องการใช้หินเข้ามาผสมผสานเพื่อสร้างผลงาน ศาสตร์ของบอนไซ ญี่ปุ่นได้ลอกเลียนศาสตร์การใช้หินของจีนได้อย่างยอดเยี่ยมและสามารถประยุกต์ได้เป็นศาสตร์ของตนเอง เมื่อหินถูกนำเข้ามาเป็นองค์ประกอบร่วมกับต้นไม้ ผลงานที่ออกมาจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไปจากการที่เราได้เห็นเผินจิ่งที่มีแต่ไม้อย่างเดียว นี่เองที่ทำให้เผินจิ่งแตกต่างจากบอนไซญี่ปุ่นอย่างมาก บางครั้งเราจะเห็นว่าหินและต้นไม้มีความงดงามที่แทบจะไม่แตกต่างกันเลย หินที่นำมาเป็นองค์ประกอบบอนไซจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เป็นหินชิ้นเดียวแต่ประกอบจากหินหลายๆก้อนติดกันด้วยกาวหรือซีเมนต์ เทคนิคนี้ทำให้ได้ผลงานที่สวยงามโดยเฉพาะเมื่อจัดร่วมอยู่ในถาดหินอ่อนที่ใส่น้ำไว้ด้วย

ผู้ปลูกเผินจิ่งชาวจีนนิยมที่จะสร้างลำต้นให้มีรูปร่างบิดงอเป็นตะปุ่มตะปั่ม มีรากที่ผิวดิน นอกจากนี้ยังนิยมการทำต้นให้กลวงซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ปลูกเผินจิ่งชาวจีนซึ่งจะให้ความรู้สึกถึงอายุที่เก่าแก่ของไม้ รวมถึงซากไม้ด้วยที่ถูกนำมาใช้บ้างเหมือนกันถึงแม้จะไม่นิยมแกะซากอย่างบอนไซของญี่ปุ่น
พันธุ์ไม้ที่นำมาใช้สร้างเผินจิ่งของจีนมีอยู่ประมาณ 200 ชนิด แต่จะนิยมใช้ต้นไม้ที่มีใบเล็กมากกว่า การเก็บไม้จากธรรมชาติก็ไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับผู้ปลูกชาวจีนนักแต่ไม่ค่อยนิยมมากเท่าญี่ปุ่น

เผินจิ่งและบอนไซมีรูปแบบทางศิลปะที่ใกล้เคียงกันอย่างมาก เผินจิ่งเป็นรูปแบบเก่าซึ่งบอนไซได้นำมาประยุกต์ หากแปลตรงตัวแล้วคำว่าบอนไซในภาษาญี่ปุ่นจะแปลว่า ต้นไม้ในกระถาง จะเห็นได้ว่าความหมายของคำว่า”บอนไซ” มีความหมายที่แคบกว่าคำว่า “เผินจิ่ง” ซึ่งหมายถึงภูมิทัศน์ในกระถาง
เผินจิ่งสามารถเห็นได้ในหลายรูปแบบที่แตกต่างกัน ชาวจีนเองได้แบ่งเผินจิ่งออกเป็นสองรูปแบบดังนี้:
- เผินจิ่งต้นไม้(shumu penjing) ต้นไม้จะเป็นองค์ประกอบหลัก เผินจิ่งรูปแบบนี้จะใกล้เคียงกับบอนไซญี่ปุ่นมาก
- เผินจิ่งภูมิทัศน์(shanshui penjing) ต้นไม้เป็นเพียงองค์ประกอบๆหนึ่งเท่านั้นไม่โดยเด่น องค์ประกอบอื่นๆ เช่น หิน, มอส, น้ำ ฯ บางคนก็มีการแบ่งเผินจิ่งภูมิทัศน์ย่อยออกไปอีก แต่ภาพรวมก็ยังคงเป็นภูมิทัศน์นั่นเอง
จุดมุ่งหมายของเผินจิ่งไม่เพียงการจำลองรูปแบบของธรรมชาติเท่านั้น แต่จะต้องสร้างจิตวิญญาณให้ผลงานที่ออกมาด้วย ฉะนั้นการสร้างเผินจิ่งจึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆเข้ามาประกอบด้วยไม่เพียงแค่ต้นไม้เท่านั้น เช่นเดียวกับภาพเขียนทิวทัศน์จีน เผินจิ่งเป็นศาสตร์ที่คล้ายกับศาสตร์การเขียนภาพทิวทัศน์ของจีน

ภาพรวมของงานที่สร้างออกมาให้ดูกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวจะค่อนข้างยาก โดยเฉพาะในงานที่มีองค์ประกอบต่างๆมากมาย เช่นการจัดเผินจิ่งแบบน้ำและแผ่นดิน ซึ่งจะมีองค์ประกอบต่างๆเช่น ถาด, ต้นไม้, หิน, มอส, หญ้าเล็กๆ และน้ำ องค์ประกอบทั้งหมดจะต้องกลมกลืนกันและสามารถสื่อได้ถึงภาพทิวทัศน์ที่ผู้สร้างต้องการได้อย่าง งดงาม
การเลือกองค์ประกอบเป็นเรื่องที่ยากมาก รวมถึงภาชนะที่จะใช้และตำแหน่งขององค์ประกอบต่างๆที่จะจัดวาง ผู้สร้างต้องคำนึงถึงชนิดของต้นไม้, จำนวนของต้นไม้ที่จะใช้, ขนาด, ความคดงอของลำต้น และความทึบแน่นของกลุ่มใบ เราต้องเลือกขนาดของหิน, สี, รูปร่าง, รายละเอียดของผิว แต่สุดท้ายแล้วแต่ละองค์ประกอบที่เราออกแบบมาจะต้องกลมกลืนกันหมด เมื่อนั้นเราก็จะได้ผลงานที่เป็นหนึ่งเดียว ศาสตร์ของเผินจิ่งไม่ยึดถือกฎตายตัว แต่ยึดถือกฎของธรรมชาติคือพยายามสร้างให้เหมือนกับงานนั้นได้ถูกธรรมชาติสร้างขึ้นมาไม่ใช่มนุษย์เป็นผู้สร้าง

พูดมากันซะขนาดนี้แล้ว สนใจลองรับบอนไซไว้ดูเล่นกันซํกต้นไหมครับ แล้วคุณจะรับรู้ถึงธรรมชาติที่ใกล้ตัว แต่อย่าลืมเลือกพรรณไม้ที่นำมาทำบอนไซให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในจุดที่ปลูกด้วยนะครับ เพราะอย่างที่บอกไปว่าไม้แต่ละชนิดต้องการแสง ความชื้นที่ต่างกัน
Kinlakestars.com
KinlakeStars.com กินแหลกแจกดาว สื่ออาหารและการท่องเที่ยว ที่นำเสนอเกี่ยวกับ อาหาร และ การกินดื่ม รวมถึงการท่องเที่ยวและที่พัก ทั้งในส่วนของ รีวิว อาหาร สถานที่ กิน ดื่ม เที่ยว พัก ผ่อนคลาย ในทุกประเภทหมวดหมู่ โปรโมชั่น ส่วนลด เมนูใหม่ กิจกรรมพิเศษ ที่เกี่ยวกับการ กิน ดื่ม บทความที่เกี่ยวกับการ กินดื่ม ไม่ว่าจะเป็น บทความกินดื่มทั่วๆไป อาทิ วิธีการ กินชีส และการดื่มไวน์ บทความการกินเพื่อสุขภาพ บทความการกินตามเทศกาล บทความสาธิตและสอนทำอาหาร สูตรทำอาหาร ข่าวสารในแวดวง การกิน ดื่ม คลิปและวีดิโอ เกี่ยวกับการ กิน ดื่ม ท่านสามารถค้นหาร้านอาหารผ่านแถบค้นหาด้านบนสุดของเวปได้เพียงพิมพ์ชื่อร้าน หรือประเภทอาหาร และย่าน คิดถึงเรื่อง กิน ดื่ม คิดถึง kinlakestars.com – กินแหลกแจกดาว