ต้นไม้เองก็เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ต้องการกินต้องการดื่ม โตได้ป่วยเป็น หากไม่ได้รับสารอาหารที่ครบหมวดหมู่และพอเพียง ย่อมป่วยได้ และตายได้เช่นเดียวกับคนเราและสัตว์ต่างๆเช่นกัน แต่ทว่าต้นไม้พูดไม่ได้ ส่งเสียงบอกเราไม่ได้ว่าหิวไหม ต้องการอะไร ขาดสารอาหารอะไร ดังนั้นเราเองที่จำเป็นต้องหมั่นสังเกตุอาการ และคอยวิเคราะห์ว่าต้นไม้เราเป็นอะไร หลายอาการที่ต้นไม้แสดงออกอาจทำให้เรานึกว่าเป็นโรคต่างๆเช่นราเข้าทำลาย หรือโดนแมลงรบกวน ทั้งๆที่เป็นเพียงอาการขาดสารอาหาร
พืชชั้นสูงจะได้รับธาตุคาร์บอน และออกซิเจนเกือบทั้งหมดที่พืชต้องการจากอากาศโดยตรง โดยคาร์บอนเข้าสู่พืชโดยตรงจากทางปากใบ (Stomata) ในรูป ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และได้รับออกซิเจนในรูปก๊าซออกซิเจน (O2) ทางปากใบและที่ผิวของราก สำหรับไฮโดรเจนนั้นพืชได้รับไฮโดรเจนอะตอมจากโมเลกุลของน้ำในขบวนการสังเคราะห์แสง เนื่องจากธาตุทั้ง 3 มีอยู่อย่างเหลือเฟือในสภาพธรรมชาติ จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความสนใจน้อยกว่าธาตุอาหารพืชอื่นๆ อีก 13 ธาตุ ที่พืชได้รับจากดินหรือกำเนิดจากดิน เนื่องจากปริมาณที่พืชได้รับมักไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยมีความรุนแรงใน การขาดธาตุอาหารเหล่านี้แตกต่างกัน ไปตามแต่สภาพของวัตถุต้นกำเนิดดินและ สภาพการณ์ ใช้พื้นที่ โดยธาตุทั้ง 13 ชนิดนั้นจะแบ่งออก เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
1) ธาตุอาหารที่พืชต้องการเป็น ปริมาณมาก (Macronutrient elements) ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม และ กำมะถัน
2) ธาตุอาหารที่พืชต้องการเป็น ปริมาณน้อย (Micronutrient elements) ได้แก่ เหล็ก สังกะสี ทองแดง โบรอน โมลิบดินัม และคลอรีน
ในครั้งนี้ทาง Kinlakestars.com จะพาทุกท่านไปดูกันว่าอาการแบบไหนต้นไม้ขาดสารอาหารอะไร ไปดูกันเลยครับ
ขาด แคลเซียม (Ca)
ใบอ่อนไม่คลี่ออกจากกัน ใบบิดเบี้ยว ใบอ่อนจะม้วนงอไปข้างหน้า ไม่คลี่ออกจากกัน และยังมีลักษณะบิดเบี้ยว ขาดเป็นริ้ว ๆ บางครั้งใบเหลืองและขอบใบหยักเป็นคลื่น อาจมีจุดประขาวตามยอดใบทำให้ดูเหมือนใบด่าง นอกจากนี้ ก้านใบแตก ตาใบและดอกยังร่วงเร็ว รากไม่สมบูรณ์อีกด้วย ลำต้นอ่อนแอ แสดงอาการในต้นอ่อน ถ้าเป็นที่ขึ้นฉ่าย มะเขือเทศ จะมีจุดสีดำที่ก้นผล เรียกว่า “โรคไส้ดำ”โรคไส้ดำ ในมะเขือเทศทำให้ผลเป็นก้นจุดที่ท้ายผลและเน่าในที่สุด แสดงว่าขาด แคลเซียม (Ca)
ขาด สังกะสี (Zn)
ธาตุสังกะสี (Zinc, Zn) มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและการทำหน้าที่ของฮอร์โมนพืช พืชที่ขาดธาตุสังกะสีจะมีการสร้างปริมาณฮอร์โมน IAA ในตายอดลดลง ทำให้ตายอดและข้อปล้องไม่เจริญและขยายตัวนอกจากนี้ธาตุสังกะสียังมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับบทบาทและหน้าที่ของเอ็นไซม์หลายชนิดของพืชในการสังเคราะห์แสงและการสร้างอาหาร จึงมีผลกระทบต่อการสร้างส่วนที่เป็นสีเขียวของพืช ต้นส้มที่ขาดธาตุสังกะสีหรือได้รับสังกะสีไม่เพียงพอกับความต้องการ จะแสดงอาการผิดปกติคือ ใบส้มจะมีสีเขียวซีดหรือเปลี่ยนเป็นสีเหลืองโดยที่เส้นกลางใบและเส้นแขนงมีสีเขียว โรคที่เกิดจากการขาดธาตุสังกะสีมักเกิดจากการที่ต้นส้มได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอ หรือต้นส้มไม่สามารถดูดธาตุอาหารที่มีอยู่ในดินไปใช้ประโยชน์ได้ การปรับปรุงสภาพและคุณสมบัติของดินปลูกให้อุดมสมบูรณ์และเหมาะสมโดยการใช้อินทรียวัตถุ การให้ธาตุอาหารอย่างสมดุลและเพียงพอแก่ต้นส้มทั้งทางดินและทางใบในปริมาณที่เหมาะสมจะสามารถป้องกันและแก้ไขโรคนี้ได้
ขาด แมกนีเซียม (Mg)
ธาตุแมกนีเซียม (Magnesium, Mg) เป็นธาตุที่มีบทบาทสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตและคุณภาพของผลผลิต เนื่องจากเป็นธาตุองค์ประกอบของสีเขียวหรือคลอโรฟิลล์ (chlorophyll) ของพืช หากต้นส้มขาดธาตุแมกนีเซียมหรือได้รับไม่เพียงพอ จะทำให้สีของใบเหลือง ไม่เขียวเข้ม ใบมีสีเหลืองโดยเส้นกลางใบและพื้นที่ใบบริเวณโคนใบมีสีเขียวเป็นรูปลิ่มหรือตัววี (V) หัวกลับ ต้นส้มที่ขาดธาตุแมกนีเซียม มักแสดงอาการขาดอย่างชัดเจนที่ใบแก่หรือใบที่อยู่ล่างๆของกิ่ง ใบส้มมีอายุสั้นกว่าปกติ จึงเหลืองและมีอายุสั้น หลุดร่วงง่าย ผลมักมีขนาดเล็กลง ขนาดผลไม่สม่ำเสมอในแต่ละต้น
ขาด แมงกานีส (Mn)
ธาตุแมงกานีส (Manganese, Mn) เป็นธาตุที่มีผลกระทบต่อความสมบูรณ์แข็งแรงของใบ เนื่องจากมีบทบาทเกี่ยวข้องในการสังเคราะห์แสง เป็นตัวกระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์ในต้นพืช และยังควบคุมกิจกรรมของธาตุเหล็กและไนโตรเจนในต้นพืชอีกด้วย
ต้นส้มที่ขาดธาตุแมงกานีสมักสังเกตได้ที่ใบ ใบส้มจะมีสีเหลือง ๆ ส่วนเส้นใบจะเขียวอยู่ปกติ มองดูคล้ายร่างแหสีเขียวบนแผ่นใบที่มีสีเหลือง โดยเฉพาะใบอ่อนอาจเกิดเป็นจุดขาว ๆ หรือจุดเหลืองที่ใบ ต้นส้มมักมีการเจริญเติบโตโตช้า ใบไม่สมบูรณ์ พุ่มต้นโปร่งผิดปกติไม่สมบูรณ์เท่าทีควร
ต้นส้มที่แสดงอาการขาดธาตุแมงกานีสมักให้ผลผลิตที่มีคุณภาพต่ำกว่าปกติ หากเป็นส้มสายน้ำผึ้งหรือส้มเขียวหวาน สีของเนื้อจะเหลืองซีด รสชาติมักจืด ในการป้องกันแก้ไขการขาดธาตุแมงกานีสนอกจากการดูแลให้ดินปลูกมีความอุดมสมบูรณ์แล้ว การพ่นอาหารเสริมที่มีองค์ประกอบของธาตุแมงกานีสให้ทางใบจะช่วยแก้ไขปัญหาของการขาดได้ แต่ถ้าได้รับมากไป บางครั้งมีสีซีดๆ อาการคล้ายกับขาดธาตุเหล็กในสับปะรด คือ คลอโรฟิลล์ไม่กระจายตัวการเจริญเติบโตลดลง
ขาด กำมะถัน (S)
ยอดพืชชะงักการเจริญเติบโต ใบมีสีเขียวอ่อนหรือเหลือง คล้ายอาการขาดธาตุไนโตรเจน (N) ขนาดใบเล็กลง แต่จะปรากฏที่ยอดอ่อนก่อน ส่วนใบล่างยังคงปกติ ถ้าอาการขาดรุนแรงใบล่างก็จะมีอาการด้วยเช่นกัน ลำต้นและกิ่งก้านลีบเล็ก ซึ่งดินที่มักพบขาดธาตุกำมะถัน (S) มักเป็นดินทรายเนื่องจากมีอินทรียวัตถุน้อย แสดงว่าขาด กำมะถัน (S) แต่ถ้าได้รับมากไปจะลดการเจริญเติบโตและขนาดของใบ ซึ่งยากต่อการสังเกต บางครั้งพบว่าใบเหลืองหรือใบไหม้
ขาด เหล็ก (Fe)
ยอดอ่อนเจริญเติบโตได้ช้ากว่าปกติ พบในใบอ่อนหรือใบบริเวณส่วนยอดบนก่อน ใบมีขนาดเล็กกว่าปกติ มีสีเหลืองระหว่างเส้นใบ ปลายยอด และขอบใบ ส่วนเส้นใบยังคงเขียว หรือขาวทั้งใบในที่สุด แผ่นใบเล็กหรือหนาขึ้น ขาดรุนแรง ระหว่างเส้นใบเหลืองซีด กิ่งแห้งตาย ให้ผลลดลง ขนาดของผลเล็ก ผิวไม่สวย แสดงว่าขาด เหล็ก (Fe) แต่ถ้าพืชได้รับมากไปในสภาพธรรมชาติมักไม่พบชัดเจนนักแต่เมื่อมีการพ้นเหล็กกับพืชทดลองว่าปรากฏเป็นเนื้อเยื่อมีลายเป็นจุด ๆ
ขาด ทองแดง (Cu)
อาการขาดธาตุทองแดงพบมากในดินเปรี้ยว ใบพืชจะมีสีเขียวจัดผิดปกติ เวลาต่อมาจะค่อยๆ กลายเป็นสีเหลือง โดยจะแสดงอาการที่ยอดก่อน เรื่อยลงมาจนถึงใบบริเวณโคนต้น ในพืชผักบางอย่างแผ่นใบจะยาวผิดปกติ เช่น ผักกาดหอมจะมีใบที่ย่นและอ่อนตัว แสดงว่าขาด ทองแดง (Cu)
ขาด โมลิบดินัม (Mo)
สีใบจางซีดผิดปกติ ใบจะมีจุดด่างกระจายอยู่ทั่วใบแต่เส้นใบยังคงเขียวอยู่ ถ้าขาดรุนแรงพืชจะแสดงอาการใบม้วนเข้าข้างใน ลักษณะที่ปลายและขอบใบจะแห้ง ดอกร่วง และผลมีขนาดเล็กลง ในกะหล่ำดอกจะแสดงอาการดอกหลวมไม่แน่น แสดงว่าขาด โมลิบดินัม (Mo)
ขาด โพแทสเซียม (K)
ใบแก่มีสีเหลืองซีดตามขอบใบ ขอบใบจะม้วนงอ ในเวลาต่อมาขอบใบจะแห้งเป็นมัน มีจุดสีน้ำตาลไหม้ เริ่มจากปลายใบสู่กลางใบ ต้นโตช้า หักล้มง่าย ผลเล็กรูปร่างผิดปกติ สุกไม่สม่ำเสมอ เมล็ดเหี่ยวย่นหรือบิดเบี้ยว ถ้าเป็นมะเขือเทศเนื้อจะเละ เมล็ดธัญพืชมีเมล็ดเล็กลีบ น้ำหนักเบา พืชหัวจะมีแป้งน้อย ใบยาสูบจะมีคุณภาพต่ำ ติดไฟยาก กลิ่นไม่ดี แสดงว่าขาด โพแทสเซียม (K) แต่ทว่าเนื่องจากพืชมักจะดูดใช้โพแทสเซียมมากเกินไป ในส้ม ผลส้มจะมีผิวหยาบ เมื่อพืชดูดใช้โพแทสเซียมที่มากเกินไปจะชักนำให้พืชมีอาการขาดแมกนีเซียมและ เป็นไปได้ว่าจะขาดแมงกานีส, สังกะสี และเหล็ก
ขาด ฟอสฟอรัส (P)
ใบแก่มีสีม่วงแดงบนแผ่นใบ เส้นใบ และลำต้น ซึ่งจะเห็นได้เด่นชัด ทางด้านใต้ใบจะมีสีเขียวเข้ม ขอบใบม้วนงอไหม้ ต้นโตช้า ผอมสูง พืชบางชนิดอาจมีลำต้นบิดเป็นเกลียว เนื้อไม้จะแข็งแต่เปราะหักง่าย ดอกและผลที่ออกมาไม่สมบูรณ์ หลุดร่วงจากขั้วได้ง่าย ผลมีความหยาบแข็งเพราะมีไฟเบอร์มาก และค่อนข้างจะสุกแก่ช้ากว่าปกติ แสดงว่าขาด ฟอสฟอรัส (P) แต่ถ้าได้รับมากเกินไปบางครั้งอาการที่ปรากฏจะคล้ายกับอาการขาดธาตุทองแดงและสังกะสี หากได้รับฟอสฟอรัสมากเกินไป
ขาด ไนโตรเจน (N)
หากพืชมีอาการโตช้า ต้นแคระแกรน ออกดอกลดลง ผล รากหรือส่วนที่สะสมอาหารมีขนาดลดลง ใบแก่ที่อยู่ตอนล่างของพืช มีสีเขียวจางแล้วกลายเป็นสีเหลืองอ่อน เริ่มซีดจากปลายใบ ถ้ารุนแรงเป็นสีน้ำตาลลามสู่กลางใบเป็นรูปตัววี (V) ใบจะร่วงก่อนกำหนด แสดงว่าพืชขาด ไนโตรเจน (N) แต่ถ้าหากได้รับมากไปพืชมีสีเขียวเข้ม ระบบรากถูกจำกัด ในมันฝรั่งจะมีหัวเล็กลง การออกดอกออกผลของพืชจะช้าลง (พืชแก่ช้า) และถ้าเป็นพืชกลุ่มที่ต้องการให้ใบมีสีสันเช่นเมเปิ้ล สีของใบอ่อนอาจจะสีเพี้ยนสีไม่แดงตามต้องการ
ขาด คลอรีน (Cl)
อาการขาด : ใบมีอาการเหี่ยวแล้วค่อย ๆเหลืองแล้วตายเป็นลำดับหรือบางครั้งมีสีบรอนซ์เงินรากจะคอยแคระแกรนและบางลงใกล้ปลายราก แต่ถ้าได้รับคลอรีนมากไป ปลายใบหลังเส้นใบไหม้ เป็นสีบรอนซ์ ใบเหลืองและใบร่วงและบางครั้งซีด ขนาดใบเล็กลงอัตราการเจริญเติบโตลดลง
ขาด โบรอน (B)
หากพืชขาดโบรอนอาการผันแปรตามชนิดของพืชลำต้นเนื้อเยื่อเจริญปลายรากมักตาย ปลายรากมักบวมมีสีซีดในเนื้อเยื่อพืชมักมีสีซีดไม่ทำงาน(โรคใบเน่าของพืช) ส่วนใบแสดงอาการต่าง ไปประกอบด้วยใบบาง แตกง่าย ใบหงิก เหี่ยวเฉาและเป็นจุดสีซีด แต่ถ้าได้รับมากไปปลายใบเหลืองตามด้วยเนื้อเยื่อใบตายจากปลายใบหรือเส้นใบไปยังแกนใบ
K Living
ต้นไม้, pm 2.5, กรองอากาศ, ฝุ่น, tree, air pollution, ปลูกต้นไม้, ต้นไม้เป็นอะไร, ต้นไม้ป่วย, ต้นไม้ขาดสารอาหาร
Kinlakestars.com
KinlakeStars.com กินแหลกแจกดาว สื่ออาหารและการท่องเที่ยว ที่นำเสนอเกี่ยวกับ อาหาร และ การกินดื่ม รวมถึงการท่องเที่ยวและที่พัก ทั้งในส่วนของ รีวิว อาหาร สถานที่ กิน ดื่ม เที่ยว พัก ผ่อนคลาย ในทุกประเภทหมวดหมู่ โปรโมชั่น ส่วนลด เมนูใหม่ กิจกรรมพิเศษ ที่เกี่ยวกับการ กิน ดื่ม บทความที่เกี่ยวกับการ กินดื่ม ไม่ว่าจะเป็น บทความกินดื่มทั่วๆไป อาทิ วิธีการ กินชีส และการดื่มไวน์ บทความการกินเพื่อสุขภาพ บทความการกินตามเทศกาล บทความสาธิตและสอนทำอาหาร สูตรทำอาหาร ข่าวสารในแวดวง การกิน ดื่ม คลิปและวีดิโอ เกี่ยวกับการ กิน ดื่ม ท่านสามารถค้นหาร้านอาหารผ่านแถบค้นหาด้านบนสุดของเวปได้เพียงพิมพ์ชื่อร้าน หรือประเภทอาหาร และย่าน คิดถึงเรื่อง กิน ดื่ม คิดถึง kinlakestars.com – กินแหลกแจกดาว