ประเภทของนาฬิกาที่ควรรู้จัก
เคยสงสัยไหมว่าหลัก ๆ แล้ว นาฬิกามีกี่ประเภท? แต่ละแบบต่างกันอย่างไร และมีจุดสังเกตอะไรบ้างที่ทำให้เราแยกนาฬิกาประเภทต่าง ๆ ได้ ซึ่งทาง Kin & Leisure จะมาช่วยอธิบายคุณสมบัติของนาฬิกาแต่ละแบบให้เข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น เพื่อให้คุณได้พบนาฬิกาที่ใช่กับสไตล์ของคุณ
Dress Watch
จุดเด่นของ Dress Watch อยู่ที่ความบางของตัวเรือนเพื่อให้สามารถสอดใต้ปลอกแขนเสื้อได้อย่างง่ายดาย มีการใช้วัสดุที่มีราคาในการผลิตและประดับตัวเคส หน้าปัดเน้นความเรียบง่ายและมักใช้มาร์คเกอร์เป็นทรงแท่งบางหรือเส้นมากกว่าตัวเลข ถ้าหากเป็นตัวเลขก็จะนิยมเป็นตัวเลขโรมัน สายนาฬิกาหลักคือสายหนัง ถ้าจะว่ากันแบบดั้งเดิม Dress Watch มีไว้เพื่อเสริมลุคทางการให้สมบูรณ์แบบ หน้าปัดจึงนิยมออกแบบโดยใช้เพียงสีพื้น หากมีลวดลายมักจะเป็นการแกะสลักตัววัสดุหน้าปัดแต่ไม่ใช่การเพ้นลวดลายหรือประดับอัญมณี เป็นนาฬิกาที่ไม่เน้นเรื่องความแม่นยำในการบอกเวลา (บางเรือนไม่มีเข็มวินาทีด้วยซ้ำ) แต่เน้นความเรียบง่ายให้กลมกลืนกับสูทที่ใส่มากกว่า ดังนั้น Dress watch จึงจะไม่มีกลไกลจับเวลา หน้าปัดสำรองพลังงาน แต่ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้วความทางการของสูทได้ถูกลดลงไปเป็น Smart Casual มากขึ้น เช่น การใส่สูทคู่กับเสื้อยืดหรือรองเท้าผ้าใบ ดังนั้น dress watch ปัจจุบันจึงออกแบบให้สามารถใส่กับชุดสไตล์ Smart casual ได้ด้วย ส่วนนาฬิกาประเภท Dress Watch ก็อย่างเช่น Patek Phillipe Calatrava, Jaeger-LeCoultre Master Calendar, Rolex Datejust และ Cartier Tank เป็นต้น
ใครชอบความปราณีต ลงรายละเอียด หรูหราและคลาสสิคตลอดกาล Dress watch เรือนนี้สุดๆจริงครับ นาฬิกาเรือนพิเศษสุด มีเพียงไม่กี่เรือนในโลก ที่สุดของความหรูหรา คลาสสิคกับ พาเทค ฟิลลิป คาลาทราวา ซึ่งเป็นนิยามของ Dress watch หรูที่ดีที่สุด นาฬิกาที่เป็นเอกลักษณ์ของ Patek อีกเรือน ที่ยังมีต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เป็นสมบัติที่ส่งต่อให้ลูกหลาน ตัวเรือนทำจากทองคำ Yellow Gold 18K ทั้งเรือนหรูหรา บางเฉียบ ด้วยขอบแบบ Hobnail อันเป็นเอกลักษณ์ ที่ทาง Patek Phikkipe แกะสลักด้วยมือ บางเพียง 7 มม. และตรงขอบที่มีลักษณ์สอบเข้า ทำให้ดูแล้วบางเพียง 4 มม. เครื่องไขลาน Cal 215PS ที่คงทนมากๆและ หน้าปัด White Enamel สายหนังจรเข้ที่ออกแบบมาให้บางเฉียบ เนี้ยบ หรู
Sport Watch
นิยามของ Sports Watch ไม่มีใครกำหนดคุณสมบัติว่าต้องเป็นอย่างไรหรือมีหน้าตาเป็นแบบไหน มีแต่แบรนด์แต่ละแบรนด์ที่กำหนดกันไปเอง ดังนั้นเราจึงเลือกที่จะมอง Sports Watch เป็นนาฬิกาที่อัดแน่นไปด้วยฟังก์ชันและเกิดมาเพื่อเป็น “เครื่องมือ” ในการใช้งาน ซึ่งนาฬิกาประเภทนี้ก็จะครอบคลุมไปถึง Chronograph Watch, Pilot watch, Dive Watch, Field Watch และ Skeleton Watch
Chronograph Watch
นาฬิกา Chronograph คือ นาฬิกาจับเวลาระบบกลไกนั่นเอง สังเกตได้จากเอกลักษณ์ของหน้าปัดย่อย 3 หน้าปัดที่อยู่ในหน้าปัดใหญ่ของนาฬิกา ซึ่งบริษัทผลิตนาฬิกาข้อมือได้เอาฟังก์ชันโครโนกราฟมาใส่ไว้ในนาฬิกาเพื่อใช้ในการจับเวลาการแข่งขันกีฬาด้านความเร็ว ส่วนมากจะใช้จับเวลาการแข่งรถ และขอบหน้าปัดก็มักจะเป็นมาตราวัดความเร็วแบบ Tachymeter เมื่อเข็มวินาทีหยุดอยู่ตรงตำแหน่งใดให้อ่านค่า Tachymeter ตรงตำแหน่งนั้น ซึ่งฟังก์ชันโครโนกราฟจะมีการพัฒนาแยกปุ่ม Start-Stop และปุ่ม Reset ให้อยู่คนละปุ่ม หน้าปัดของนาฬิกาประเภทนี้จะมีขนาดใหญ่และมีขีดสเกลที่คมชัดละเอียดมาก เพื่ออ่านค่าเวลาได้อย่างแม่นยำ ส่วนนาฬิกาประเภทโครโนกราฟยอดนิยมอย่างเช่น Omega Speedmaster Professional ซึ่งได้กลายเป็นตำนานนาฬิกาที่ได้ขึ้นไปสู่พื้นผิวของดวงจันทร์ และเป็น King of chronograph เพราะเป็นนาฬิกาเรือนเดียวที่ผ่านบททดสอบของ NASA และถูกใช้ในภารกิจบนดวงจันทร์ จนได้รับฉายาว่า The Moon Watch
ความสำเร็จขั้นที่ 1 ของ Speedmaster คือได้ออกไปสู่ห้วงอวกาศในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1962 และในปีเดียวกันนั้นเอง องค์การ NASA ก็ได้เตรียมภารกิจท่องอวกาศไว้อีกสองภารกิจใหญ่ๆ คือ The Gemini mission และ The Apollo mission ทาง NASA จึงได้กว้านซื้อนาฬิกา Chronograph หลายรุ่นจากหลายแบรนด์ดัง เช่น Breitling, Longines, Omega, Rolex และอีกหลายแบรนด์ โดย NASA ได้กำหนดนาฬิกาที่จะเข้ารับบททดสอบจะต้องมีคุณสมบัติสำคัญ 7 ข้อ หลังจากที่ NASA ได้นาฬิกาที่ผ่านการทดสอบในเบื้องต้นมาแล้วก็จะนำมาทำการทดสอบในกระบวนการ “Qualification Test Procedures” ซึ่งเป็นการทดสอบความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมต่างๆ 11 ข้อ โดยขั้นตอนการทดสอบใช้เวลานานถึง 3 ปี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1965 ผลการทดสอบออกมาว่ามีเพียงนาฬิกา Omega Speedmaster เท่านั้นที่ผ่านการทดสอบทั้งหมด และในที่สุดก็ถูกสวมใส่บนข้อมือของนักบินอวกาศบนยานอวกาศ The Gemini Titan III
เมื่อยาน Apollo 13 ที่กำลังปฏิบัติภารกิจมุ่งสู่ดวงจันทร์เป็นครั้งที่ 2 เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นอย่างกะทันหัน เมื่อถังสำรองออกซิเจนในตัวยานระเบิด ทำให้ระบบไฟฟ้าภายในยานต้องสำรองไว้ใช้แค่สื่อสารกับทีมควบคุมบนโลกเท่านั้น อุปกรณ์อย่างอื่นจึงไม่สามารถใช้งานได้อีก รวมถึงหน้าปัดและตัวจับเวลาอื่นๆ ด้วย และในเมื่อไม่มีนาฬิกาหรือตัวจับเวลาใดๆ ในยานที่จะสามารถใช้งานได้ Jack Swigert จึงตัดสินใจใช้ Omega Speedmaster ที่ใส่อยู่จับเวลาอย่างแม่นยำเป็นเวลา 14 วินาที เพื่อใช้จุดระเบิดเครื่องขับแรงดันและใช้แรงเหวี่ยงของดวงจันทร์ช่วยส่งยานกลับมายังโลก ซึ่งยาน Aquarius Lunar Module ก็ร่อนลงที่มหาสมุทรแปซิกฟิคและนักบินอวกาศทั้งสามก็รอดชีวิตในที่สุด
Pilot watch
Pilot Watch เป็นนาฬิกาสำหรับนักบิน และก็เป็นนาฬิกาข้อมือจริง ๆ เรือนแรกของโลก จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในปี 1904 เมื่อเพื่อนของ Louis Cartier ได้ขอให้เขาทำนาฬิกาข้อมือให้เพื่อความสะดวกในการมองเวลาขณะขับเครื่องบิน จริงอยู่ว่ามีการใช้นาฬิกาข้อมือในการรบมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่นั่นเป็นเพียงการนำ Pocket Watch มาดัดแปลงเป็นนาฬิกาข้อมือแทน จุดเด่นของ Pilot Watch อยู่ที่หน้าปัดสีดำ มาร์คเกอร์ตัวเลขเรืองแสงสะอาดตาเพื่อให้อ่านเวลาได้ง่ายที่สุด มีเม็ดมะยมขนาดใหญ่เพื่อให้สะดวกในการปรับตั้งค่าและมักใช้สายหนังเป็นหลัก ส่วนเรื่องหน้าตานั้นไม่ได้มีดีไซน์เจาะจงมากนัก ทำให้มีแบบให้เลือกตั้งแต่เรียบง่ายไปจนถึงดีไซน์หน้าตาที่ดูซับซ้อน ส่วนนาฬิกาที่อยู่ในประเภทนี้ก็อย่างเช่น Cartier Santos และ Breitling Navitimer
Dive Watch
Dive Watch คือนาฬิกาดำน้ำที่หลายคนอาจจะรู้จัก เพราะว่าเป็นนาฬิกาของ James Bond OMEGA นำขบวน Seamaster รุ่นย่อยต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ รุ่นที่ตราตรึงและทุกคนจะนึกถึงเมื่อมีคนพูดถึง Bond’s Watch คือ Seamaster Pro 300 หรือ Sea Pro 300 ซึ่งถูกแทนที่ด้วย Seamaster Planet Ocean ในปี 2005 และไม่เคยกลับมาอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้อีกเลย จนกระทั่งถึงภาคใหม่ที่จะเข้าฉายในปี 2020 อย่าง No Time To Die แถมยังมาในช่วงที่ถูกจังหวะอีกด้วย เพราะเป็นการครบรอบ 25 ปีความสัมพันธ์ของทั้ง OMEGA Seamaster กับ James Bond 1995-2020 และในภาค “Dr. No” ซึ่งทำให้ Rolex Submariner ได้กลายเป็นแม่แบบในด้านการออกแบบ Dive Watch ไปโดยปริยาย ขึ้นชื่อว่านาฬิกาดำน้ำก็ต้องมีจุดเด่นที่สามารถดำน้ำได้อย่างน้อย 100 เมตรและต้องผ่านมาตรฐาน ISO 6425 อีกด้วย ตัวเรือนจะต้องมีความคงทนต่อแรงดันน้ำและการกัดกร่อนของน้ำทะเลได้อย่างดี วัสดุตัวเรือนจึงนิยมใช้ Stainless Steel หรือ Titanium เป็นหลัก ส่วนสายนาฬิกาก็จะยาวกว่าปกติเพื่อปรับสายให้สามารถทับกับชุดสูทได้หรือรองรับอุปกรณ์ดำน้ำได้ และสายนาฬิกาก็มักจะเป็นแบบยางหรือซิลิโคนเพื่อให้จับเกาะกับชุดนักดำน้ำได้ดีเมื่อสวมทับชุด ใช้กระจก Mineral เป็นกระจกครอบเพราะมีความยืดหยุ่นกว่ากระจก Sapphire ทำให้ทนต่อแรงดันน้ำได้มากกว่า มาพร้อมมาร์คเกอร์เรืองแสงใต้น้ำได้ และที่ขาดไม่ได้คือ Dive Bezel หรือที่เรียกว่าขอบหน้าปัดหมุนได้ ที่เอาไว้จับเวลาว่านักดำน้ำลงไปนานเท่าไหร่แล้ว วิธีใช้นั้นง่ายมากเพียงหมุนขอบ Bezel ให้ตำแหน่ง 12 นาฬิกา (แท่งรูปสามเหลี่ยม) ไปตรงกับเข็มนาทีก่อนลงดำน้ำเท่านั้นเอง
Field Watch
Field Watch หรือชื่อดั้งเดิมคือ “Trench Watch” เรียกสั้น ๆ ว่า “นาฬิกาทหาร” ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อสิ่งเดียวคือ “การบอกเวลาที่แม่นยำและต้องคงทนมาก” เพราะเมื่อถึงเวลาไปทำสงคราม ทหารจำเป็นต้องมีนาฬิกาที่แม่นยำในการนัดเวลาเพื่อจู่โจมฝั่งตรงข้ามพร้อมกัน อีกทั้งนาฬิกาก็จำเป็นต้องมีความถึกทนต่อแรงกระแทกต่าง ๆ และออกซิเดชั่นน้อยที่สุด ทำให้ Field Watch ส่วนใหญ่เลือกใช้ Stainless Steel เป็นวัสดุหลัก นอกจากนี้แล้วนาฬิกาก็ยังสามารถอ่านเวลาได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ดังนั้นกระจกนาฬิกาจึงต้องกันแสงสะท้อน และมีสีหน้าปัดที่ตัดกับสีมาร์คเกอร์พร้อมทั้งเคลือบสารเรืองแสงเอาไว้ ซึ่งเจ้าแรกๆที่นำสารเรืองแสงมาใช้และผลิตเพื่อกองทัพเท่านั้นได้แก่ panerai เพื่อให้สามารถอ่านเวลาได้ในยามค่ำคืน สายนาฬิกาเป็นแบบ NATO หรือ ZULU เพื่อความแน่นกระชับในการสวมทับชุดทหาร ส่วนนาฬิกาที่จัดอยู่ในหมวดหมู่นี้ก็อย่างเช่น Hamilton Khaki Field และ PANERAI SUBMERSIBLE MARINA MILITARE CARBOTECH
Skeleton Watch
นาฬิกา Skeleton หรือที่เรียกกันว่าหน้าปัดเปลือย มีลักษณะเป็นโครงกระดูกเหมือนกับความหมายตามภาษาอังกฤษ ซึ่งความเป็นมาของนาฬิกา Skeleton เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18 มาจากฝีมือของช่างนาฬิกาชาวฝรั่งเศส ที่ต้องการสร้างนาฬิกาพกให้มีความบางด้วยการลดชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็นออก ทำให้เกิดการพัฒนาจนออกมาเป็นนาฬิกาที่มีกลไกแบบโครงกระดูก ซึ่งลักษณะของนาฬิกาก็จะมีหน้าปัดแบบเปลือยเปล่า ทำให้มองเห็นความสวยงามและรายละเอียดของกลไกผ่านหน้าปัดได้เลย โดยความเปลือยของหน้าปัดนั้นก็มีทั้งแบบเปลือยหมด และเปลือยบางส่วนที่เรียกว่า Semi-Skeleton Watch ส่วนนาฬิกาที่อยู่ในหมวดหมู่สเกเลตันก็อย่างเช่น Royal Oak Snow Rainbow, Richard Mille RM71-02 และ Audemars Piguet Jules Audemars Grande Complication
K Lifestyle and fashion
Kinandleisure.com กินแอนเลเชอร์ สื่ออาหารและการท่องเที่ยว ที่นำเสนอเกี่ยวกับ อาหาร และ การกินดื่ม รวมถึงการท่องเที่ยวและที่พัก ทั้งในส่วนของ รีวิว อาหาร สถานที่ กิน ดื่ม เที่ยว พัก ผ่อนคลาย ในทุกประเภทหมวดหมู่ โปรโมชั่น ส่วนลด เมนูใหม่ กิจกรรมพิเศษ ที่เกี่ยวกับการ กิน ดื่ม บทความที่เกี่ยวกับการ กินดื่ม ไม่ว่าจะเป็น บทความกินดื่มทั่วๆไป อาทิ วิธีการ กินชีส และการดื่มไวน์ บทความการกินเพื่อสุขภาพ บทความการกินตามเทศกาล บทความสาธิตและสอนทำอาหาร สูตรทำอาหาร ข่าวสารในแวดวง การกิน ดื่ม คลิปและวีดิโอ เกี่ยวกับการ กิน ดื่ม ท่านสามารถค้นหาร้านอาหารผ่านแถบค้นหาด้านบนสุดของเวปได้เพียงพิมพ์ชื่อร้าน หรือประเภทอาหาร และย่าน คิดถึงเรื่อง กิน ดื่ม คิดถึง Kinandleisure.com กินแอนเลเชอร์