”สถาปัตยกรรมเขตร้อน” ที่ออกแบบสอดคล้องกับสภาพอากาศช่วงเวลาของการท่องเที่ยวหรือการได้ไปพักผ่อนในที่ที่ไม่เคยไป คือการสร้างประสบการณ์ที่ดี ที่จะเติมเต็มให้ชีวิตได้เดินหน้าต่อไปอย่างสมดุล ชีวิตที่ทำงานอย่างเดียวหรือเคร่งเครียดเกินไป ย่อมไม่ค่อยดีอย่างแน่นอน
โดยส่วนตัวแล้วผมกับเพื่อนนั้นต่างแทบไม่มีเวลาไปไหนยาวๆ ดังนั้นพอจะไปไหนทีเราจึงต้องเลือกจุดหมายที่ตอบสนองการพักผ่อนอย่างสูงสุด ทริปนี้ผมรู้สึกว่าคิดถูกจริงๆที่เลือกมาพักผ่อนกับโรงแรมระดับ 6 ดาวนี้ ดินแดนในฝันนี้คือ Soneva Kiri เกาะกูด จังหวัดตราด ซึ่งเป็นเกาะในอ่าวไทยที่มีความงดงามไม่แพ้เกาะทะเลใต้ไหนๆ ที่ได้ชื่อว่าดินแดนในฝันก็เพราะว่าที่นี่เต็มไปด้วยธรรมชาติที่สมบูรณ์สวยงาม ทะเลที่ใส่ไม่แพ้มัลดีฟแต่มีความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศที่สูงมาก และที่สำคัญสำหรับในบทความตอนนี้ สถาปัตยกรรม การตกแต่งที่เอื้อให้เกิดการพักผ่อนที่ดีมากๆนั้นเองครับ
What & Why: Green Architecture
ในอดีตความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสภาพแวดล้อม คือ การพยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อม แต่ปัจจุบันจำนวนประชากรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ต่างคนก็ต่างมีความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่ในจำนวนจำกัด มนุษย์บางคนที่ขาดจิตสำนึกจึงไปเบียดเบียนธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง รวมทั้งความก้าวหน้าทางวัตถุที่ทำให้มนุษย์ไร้จิตสำนึกบางกลุ่มทึกทักกันไปเองว่ามนุษย์คือเจ้าของทรัพยากรและทุกอย่างบนโลกเป็นสมบัติที่มนุษย์เอาไปทำอะไรก็ได้ ผมสะเทือนใจมากตอนที่มีนักข่าวสำนักหนึ่งพูดวลีเช่นนี้ขึ้นมา ความคิดที่คับแคบเช่นนั้นจึงเป็นเหตุให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างทุกวันนี้ ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า การเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งสร้างอากาศเสีย มลพิษ หรือน้ำเสีย เป็นต้น
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าแนวทางในการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมนั้น คือการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มากที่สุด โดยเฉพาะพลังงาน แต่เราจะลดการใช้พลังงานได้อย่างไร ในเมื่อที่อยู่อาศัยและที่ทำงานของเราทุกวันนี้ไม่ได้เอื้อต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเรา
หากอากาศร้อนก็ต้องเปิดแอร์ ห้องไม่สว่างก็ต้องเปิดไฟ อยากชมวิวก็ทำผนังกระจกไปแบบไม่ดูทิศดูทางสุดท้ายอาคารกลายเป็นตัวสะสมความร้อน ร้อนยิ่งกว่าข้างนอกก็ต้องจบที่เร่งการทำงานระบบปรับอากาศ เราแทบจะไม่สามารถลดการใช้พลังงานได้เลย
หากไม่มีการปรับเปลี่ยนอาคารที่อยู่อาศัย ให้เหมาะกับการใช้ชีวิตและประหยัดพลังงาน เราจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ จึงนำมาสู่แนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรม ให้คนสามารถอยู่ได้โดยใช้พลังงานน้อยที่สุด หลักการออกแบบนี้ คือ สถาปัตยกรรมสีเขียว (Green Architecture) และ สถาปัตยกรรมแบบยั่งยืน (Sustainable Architecture) นั้นเองครับ
สำหรับประเทศไทยที่มีอากาศร้อนชื้นแทบตลอดทั้งปี แนวคิดงานออกแบบสถาปัตยกรรมให้สอดคล้องกับสภาพอากาศบ้านเรานั้นถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะนอกจากจะทำให้ผู้อยู่อาศัยแต่ละพื้นที่อยู่ได้แบบสบายๆ โดยเฉพาะหน้าร้อนที่อากาศอบอ้าวแล้ว ยังมีผลต่อในทุกฤดูกาลและดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
Soneva Kiri
คุณลองคิดดูว่าถ้าใส่สูทไปทะเลคงไม่สบายเนื้อสบายตัวแน่ อาคารและการออกแบบสถาปัตยกรรมก็เช่นกันครับ ซึ่ง “Tropical Architecture” ก็ถือเป็นผลงานออกแบบสำหรับผู้อยู่อาศัยในเขตร้อน รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย วันนี้ Kinlakestars.com จึงขอพาทุกท่านไปชม Pool Villa สไตล์ Tropical ที่เป็น Luxury Botique Resort อย่าง Soneva มาให้ชมกัน
Design Part
อย่างแรกที่เราต้องเข้าใจเลยนั่นคือที่ตั้งของโรงแรม ภูมิประเทศจุดที่ตั้งมีลักษณะเป็นเนินเขาหินปูนและมีต้นไม้แบบป่าร้อนชื้นปกคลุม ซึ่งมีความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพที่สูงมาก การที่เราจะเปลี่ยนหน้าดินเดิมเป็นพื้นปูนย่อมเป็นเรื่องน่าเสียดาย อีกทั้งด้วยความลาดเอียงไปมาไม่ใช่พื้นราบหากจะปรับพื้นย่อมกระทบต่อระบบนิเวศทั้งการไหลของน้ำและพืชพรรณเดิมอีกทั้งชั้นดิน ซึ่งก็จะส่งผลต่อสัตว์ต่างๆในระบบนิเวศตามไปด้วย
Landscape
ผู้ออกแบบจึงคิดอย่างครบวงจรตั้งแต่การวางผังโครงการทั้งหมดให้อาคารต่างๆเกาะไปตามความลาดเอียง อีกทั้งเชื่อมต่อแต่ละอาคารด้วยถนนเล็กๆที่ใช้การเดิน หรือรถบักกี้คันเล็กๆซึ่งเป็นการรบกวนสภาพแวดล้อมเดิมให้น้อยที่สุดและไม่สร้างมลพิษ อีกทั้งทางสัญจรทั้งหมดที่เชื่อมต่อกันก็จะคดเคี้ยวและขึ้นลงไปตามความลาดเอียงเดิมแทบทั้งสิ้น
ต่อมาที่เราจะพูดถึงกันคือทางสัญจรครับ ทางเดินไม้ยาวคดเคี้ยวไปมาที่ยกตัวสูงขึ้นมาจากพื้นดินเดิม ลอยตัวอยู่ด้วยเสาไม้นั้น นอกจากจะทำให้เรารู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติและเหมือนได้ผจญภัยในป่าแล้วนั้น สิ่งสำคัญคือไม่เป็นการปิดหน้าดินเดิม ด้วยระยะที่ยกสูงกว่า 2 เมตรในทุกจุดทำให้พื้นที่ใต้ทางเดิน ดินยังรับน้ำให้ไหลซึมลงชั้นดินเดิม ปัญหาการทรุดตัวของดินไม่ใช่แค่การสูบน้ำขึ้นมาใช้แต่เป็นการที่น้ำไม่สามารถซึมกลับลงชั้นดินด้วย การปล่อยให้หน้าดินเป็นดินเดิมนอกจากน้ำจะซึมลงได้นั้น ยังช่วยให้ดินสามารถระบายคายความร้อนออกในเวลากลางคืน และสะสมความร้อนในช่วงกลางวัน อีกทั้งพืชพรรณต่างๆสามารถขึ้นได้ สัตว์ในระบบนิเวศเดินก็ยังอยู่ต่อไปได้อีกด้วย
มาสร้าง “สภาวะน่าสบาย” ผ่านการลดและปรับ “พื้นที่ดาดแข็ง”
หลายคนอาจไม่คุ้นนักกับคำว่า “พื้นที่ดาดแข็ง” แต่ถ้าบอกว่าคือ พื้นที่บริเวณรอบๆ อาคารที่มีลักษณะแข็ง ซึ่งเรามักออกแบบให้เป็นทั้งที่จอดรถ ทางเดินเท้า หรือลานที่ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นอีกหน่อยว่าคือ พื้นลาดยาง พื้นอิฐ พื้นคอนกรีต พื้นหิน หรือพื้นไม้ คนทุกคนย่อมรู้จักกันเป็นอย่างดี
แล้วอะไรคือปัญหา ? หากบ้านสักหลังมีบริเวณโดยรอบเต็มไปด้วย — พื้นที่ดาดแข็ง
หากมี “พื้นที่ดาดแข็ง” อยู่ในบริเวณรอบๆ บ้านเป็นปริมาณมาก คุณสมบัติของวัสดุนั้นๆ จะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิโดยรอบเพิ่มสูงขึ้น แสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องจ้าเข้ามาก็จะแยงตาโดยตรง และเสียงสะท้อนจากกิจกรรมต่างๆ ก็จะตรงสู่อาคารมากเป็นพิเศษ
นึกภาพ “บ้าน” ที่ไม่มีต้นไม้ใหญ่ๆ สักต้นให้ร่มเงา ซอกมุมซ้ายขวาก็ไม่มีกระถางต้นไม้น้อย-ใหญ่ตั้งอยู่ และเจ้าของบ้านก็เลือกที่จะเปลี่ยนบริเวณรอบๆ โดยส่วนใหญ่เป็น “พื้นที่ดาดแข็ง” แบบต่างๆ เพื่อการใช้สอยที่สะดวกยิ่งขึ้น หากเป็นเวลากลางคืน แสงอาทิตย์ที่หมดไปและความเงียบสงบที่มาเยือน ก็คงไม่สร้างปัญหาอะไรมากนัก หากแต่ในเวลากลางวัน ผู้อยู่อาศัยย่อมรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัวไปกับบรรยากาศโดยรอบของบ้าน
“พื้นที่ดาดแข็ง” ที่สร้างผลกระทบต่อ “สภาวะน่าสบายด้านความร้อน” เกิดขึ้นจากการที่วัสดุมี “ค่าสะท้อนความร้อน” ในระดับต่ำ – ปานกลาง “ค่าดูดกลืนความร้อน” และ “ค่าแผ่ความร้อน” ในระดับสูง จนพื้นที่นั้นกลายเป็นแหล่งสะสมความร้อน และเมื่อเปรียบเทียบกับบริเวณโดยรอบที่เป็น “พื้นสีเขียว” จะพบว่ามีอุณหภูมิสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยตัวเลขการเปรียบเทียบ “อุณหภูมิพื้นผิว” ของพื้นคอนกรีต บล็อคคอนกรีตปูหญ้า บล็อคพลาสติกปูหญ้า และสนามหญ้า จะมากถึง 42, 36, 30 และ 27 องศาเซลเซียสตามลำดับ
Architectural Design
ทีนี้เรามาดูกันที่ตัวอาคารและสถาปัตยกรรมกันต่อเลยดีกว่าครับ เริ่มต้นจากการที่เจ้าของ Soneva เป็นผู้หลงใหลในธรรมชาติและชื่นชอบต้นไม้เป็นอย่างยิ่ง จึงมีแนวคิดที่ต้องการให้บ้านเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ แสงแดดและสายลมพัดผ่านเข้ามาได้เกือบทุกมุม ไม่ว่าจะนั่งตรงไหนก็สามารถสัมผัสได้ถึงสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่อยู่ใกล้ตัวตลอดเวลา สามารถมองเห็นพืชพรรณและธรรมชาติอันสมบูรณ์ของเกาะกูด อีกทั้งเลือกใช้วัสดุที่นำมาจากธรรมชาติ ถือว่าเป็นการสร้างความกลมกลืนระหว่างบ้านและธรรมชาติได้อย่างแนบเนียน
การพิจารณาที่ตั้งของอาคาร ทิศทางแดด ลม ฝน ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงมุมมองรอบข้างที่มีผลต่อการเปิดช่องเปิด และการออกแบบจัดวางพื้นที่การใช้งานของอาคารในแทบทุกหลัง หมู่อาคารทั้งหมดจะมีพื้นที่ว่างระหว่างกันทำให้ไม่บังทิศทางลม ตัวหน้าวิลล่าหลังที่เราพักและหลังอื่นๆที่เราได้ขอเข้าชมหันหน้าเข้าไปที่ทะเลทั้งหมด ทำให้นอกจากจะชมทัศนียภาพทะเลได้ทั้งหมดยังเปิดรับลมทะเลเข้ามาได้อย่างดี
โดยสถาปนิกมีการออกแบบที่พิเศษมากสำหรับในส่วนของวิลล่าทุกหลัง คือการคงต้นไม้ใหญ่เดิมที่มีไว้บริเวณกลางหมู่อาคาร 4 ต้นขึ้นไปตามขนาด แบบวิลล่า เพื่อกรองแสงแดดที่จะเข้าสู่ตัวอาคารในช่วงเวลากลางวันและบ่ายแก่ๆ
ซึ่งแสงแดดจะเฉียงมากและยังรักษาสภาพแวดล้อมเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี โดยตรงพื้นจะเจาะช่องเว้นให้ต้นไม้ รอบๆก็เป็นพื้นยกใต้ถุนสูงขึ้นมาและใต้พื้นก็เว้นเป็นหน้าดินเดิมให้น้ำซึมลงชั้นดินได้
พื้นที่ภายในบ้านมีลักษณะก้ำกึ่งระหว่าง indoor และ outdoor มีเลเยอร์ของระเบียงและ façade สำหรับบังแดดและกันฝน ตัวประตูและหน้าต่างรอบอาคารส่วนที่เป็นพื้นที่สำหรับนอน นั่งเล่นและทำงาน จากพื้นจนถึงคานเป็นผนังที่เปิดโล่งได้หมดจนเหลือแต่เสาด้วยประตูกระจกบานเฟี้ยมมีวงกบและบานกรอบเป็นไม้ที่ให้ความรู้สีกธรรมชาติมาก
แตกต่างจากวงกบบานกรอบอลูมิเนียมโดยสิ้นเชิง หากเราอยากจะสัมผัสกับธรรมชาติจริงๆก็เปิดได้หมดทั้ง 3 ด้าน โดยไม่ต้องใช้ระบบปรับอากาศก็จะสัมผัสกับลมทะเล กลิ่นอายธรรมชาติ เสียงคลื่นเสียงแมลง และไม่ต้องกลัวแมลงขณะนอนเพราะตรงเตียงมีมุ้งล้อมรอบ องค์ประกอบต่างๆที่กล่าวมาจึงทำให้รู้สึกว่าตัวบ้านมีกลิ่นอายความเป็นทรอปิคอล ในเรื่องการออกแบบที่สอดคล้องกับสภาพอากาศ
จะเห็นได้จากวัสดุที่เป็นไม้ และการออกแบบชายคายื่น เพื่อบังแดดและระบายอากาศ อย่างแผงไม้ด้านหน้าและด้านข้างของอาคาร โดยสถาปนิกได้กำหนดองศาการยกขึ้นลงของแต่ละบานไว้จากการคำนวณมาเป็นอย่างดี และมี Facade ระแนงไม้ที่เป็น Double Skin อยู่ด้านนอกและด้านในเป็นกระจก เช่นในส่วนอาคารแต่งตัว ห้องน้ำตามรูปประกอบ ช่วยกรองแสงแดดและความร้อนเข้าสู่พื้นที่อยู่อาศัยอีกด้วย
เรื่องของการยื่นยาวเกินออกมาจากแนวเส้นโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นพื้น ชายคา จันทัน ทำให้เกิดมิติของอาคารที่มีหน้าที่ช่วยบังแดดฝน อีกนัยหนึ่งยังช่วยให้อาคารดูเบาลอย บวกกับความบางของเส้นโครงสร้างไม้และไม้ไผ่ ทำให้สถาปัตยกรรมชิ้นนี้โปร่งเบาโดยไม่ต้องสงสัย
นอกจากนี้ผู้ออกแบบยังตั้งใจออกแบบวัสดุให้ไม่เหลือเศษในการก่อสร้าง แม้แต่กิ่งของต้นสนหรือกิ่งไม้ที่เหลือจากการตัดเอาส่วนลำต้นมาทำส่วนต่างๆไม่ว่าจะเป็นเสา พื้น คาน ผนังแล้ว สถาปนิกยังนำกิ่งที่คดโค้งเองไปมามาใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดเช่นการนำมาทำเป็นมือจับประตูเป็นต้น
มาถึงอาคารส่วนกลาง สถาปัตยกรรม Tropical หลังที่เป็นห้องอาหาร บาร์ต่างๆ หรือส่วนของพื้นที่นั่งเล่นส่วนกินไอศกรีมและช็อคโกแลต และสปานี้ “โล่ง โปร่ง สบาย” ด้วยการออกแบบผ่านความตั้งใจและดีเทลมากมายที่ต้องผ่านการคิดมาครั้งแล้วครั้งเล่า โดยมีการใช้วัสดุและโครงสร้างที่เรียบง่ายอย่างเหล็กที่เป็นส่วนประกอบในการยึดและไม้ที่เป็นโครงสร้างหลัก
ผสมผสานกับการออกแบบแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เช่น การยกอาคารขึ้นสูง เพื่อให้มีพื้นที่ใต้ถุนช่วยให้ลมพัดผ่าน และระบายอากาศได้ดี การใช้ผนังไม้และไม้ไผ่สีอ่อนที่ไม่สะสมความร้อนและระบายความร้อนออกได้อย่างดีและรวดเร็ว ผนังหลายๆส่วนที่ไม่ได้เป็นพื้นที่ปรับอากาศก็เว้นเป็นช่องว่างไว้และมีเพดานที่สูง ทำให้มวลความร้อนลอยตัวขึ้นตามหลักฟิสิกส์และไหลออกจากตัวอาคารได้ตามธรรมชาติ
ใช้ไม้ปลูกที่โตเร็ว = Low Carbon Footprint ?
คาร์บอน ฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) คืออะไร ? มันก์คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เริ่มต้นตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน จนกระทั่งถึงการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน โดยทำการคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่าต่อหน่วยผลิตภัณฑ์
ซึ่งไม้ที่ผ่านการรับรองมาตารฐานว่าเป็นไม้ที่มาจากการปลูกเพื่อใช้ทำวัสดุก่อสร้างนั้นถือเป็น Low Carbon Footprint เพราะนอกจากจะช่วยลด Carbon ในระหว่างที่ยังเป็นต้นไม้ ยังใช้พลังงานในการแปรรูปต่ำกว่าคอนกรีตและเหล็ก น้ำหนักเบาขนส่งสะดวก และย่อยสลายได้ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมแถมยังใช้พลังงานในการย่อยสลายแปรสภาพกลับมาใช้ใหม่ต่ำเช่นกัน
สถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้นมีลักษณะเด่นด้านการใช้วัสดุธรรมชาติที่ปลูกขึ้นทดแทนได้หรือวัสดุท้องถิ่น วัสดุที่ใช้พลังงานในการแปรรูปต่ำและสร้างคาร์บอนฟุทปริ้นต่ำ การสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายในการพักอาศัย ด้วยการใช้วัสดุที่ให้ความรู้สึกถึงกลิ่นอายธรรมชาติที่กลมกลืน และผ่อนคลาย จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในปัจจุบันสำหรับผู้ที่ชื่นชอบในการตกแต่งแบบสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้น ที่ให้ความรู้สึกถึงกลิ่นอายความเป็นธรรมชาติได้อย่างแท้จริง
ดังนั้น Soneva Kiri จึงเป็นหนึ่งในสุดยอดตัวอย่างการออกแบบ Sustainable Tropical Architecture Design ครับ ควรค่าแก่การมาครั้งหนึ่งในชีวิต
และพบกับสุดยอดเนื้อหาพานำชม Soneva Kiri ในแบบฉบับที่ไม่เหมือนใคร Ep.2 ได้เร็วๆนี้ที่ Kinlakestars.com ทั้ง Website facebook Instagram และ youtube ครับ
Story / Photo : Pol.Capt. Kittin A.
kinlakestars.com
รีวิว, เกาะกูด, ที่พัก, luxury, hotel review, Soneva kiri, private plane, pool villa, treepod, สถาปัตยกรรมยั่งยืน, sustainable design, luxury
KinlakeStars.com กินแหลกแจกดาว สื่ออาหารและการท่องเที่ยว ที่นำเสนอเกี่ยวกับ อาหาร และ การกินดื่ม รวมถึงการท่องเที่ยวและที่พัก ทั้งในส่วนของ รีวิว อาหาร สถานที่ กิน ดื่ม เที่ยว พัก ผ่อนคลาย ในทุกประเภทหมวดหมู่ โปรโมชั่น ส่วนลด เมนูใหม่ กิจกรรมพิเศษ ที่เกี่ยวกับการ กิน ดื่ม บทความที่เกี่ยวกับการ กินดื่ม ไม่ว่าจะเป็น บทความกินดื่มทั่วๆไป อาทิ วิธีการ กินชีส และการดื่มไวน์ บทความการกินเพื่อสุขภาพ บทความการกินตามเทศกาล บทความสาธิตและสอนทำอาหาร สูตรทำอาหาร ข่าวสารในแวดวง การกิน ดื่ม คลิปและวีดิโอ เกี่ยวกับการ กิน ดื่ม ท่านสามารถค้นหาร้านอาหารผ่านแถบค้นหาด้านบนสุดของเวปได้เพียงพิมพ์ชื่อร้าน หรือประเภทอาหาร และย่าน คิดถึงเรื่อง กิน ดื่ม คิดถึง kinlakestars.com – กินแหลกแจกดาว